Page 35 -
P. 35
โครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
31
บทที่ 4
กลไกการส่งผ่านราคาในระบบการค้าข้าวของไทย
การทำความเข้าใจระบบการค้าข้าวของไทยจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอธิบายความสามารถในการ
ส่งผ่านราคาจากตลาดข้าวส่งออกไปยังราคาข้าวสารและราคาข้าวเปลือกว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็น
วัตถุประสงค์หลักในการศึกษานี้ เนื้อหาในบทนี้จะประกอบด้วยภาพรวมของห่วงโซ่อุปทานข้าว จากนั้นจะกล่าวถึง
กระบวนการและรูปแบบการซื้อขายข้าวเพื่อการส่งออกระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน โดยจะไม่เน้น
กล่าวถึงการซื้อขายข้าวสารเพื่อการบริโภคภายในประเทศเพราะอยู่นอกขอบเขตการศึกษาครั้งนี้ ข้อมูลส่วนใหญ่
อ้างอิงจากงานศึกษาของอัมมาร และวิโรจน์ (2533) และ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ (2559) รวมถึงข่าวจาก
หนังสือพิมพ์รายวันต่างๆ จากนั้นจึงสรุปและวิเคราะห์กระบวนการและรูปแบบการซื้อขายข้าวที่อาจมีผลต่อการ
ส่งผ่านราคาจากตลาดข้าวส่งออกไปยังราคาข้าวสารและราคาข้าวเปลือกภายในประเทศ ผลการวิเคราะห์ที่ได้จะ
เป็นประโยชน์สำหรับการอภิปรายผลการศึกษาเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการส่งผ่านราคาข้าวและข้อเสนอแนะเชิง
นโยบายต่อไป
4.1 ห่วงโซ่อุปทานข้าว
ห่วงโซ่อุปทานของข้าวที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้าวเปลือกจากเกษตรกรไปจนกระทั่งเป็นข้าวสารเพื่อการบริโภค
อุตสาหกรรมการแปรรูปและการส่งออกนั้น มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและการเชื่อมโยงกันหลายระดับดังแสดงใน
แผนภาพที่ 4.1 โดยเริ่มจากเกษตรกรผู้ผลิตข้าวเปลือก ภายหลังจากที่เกษตรกรเก็บข้าวเปลือกส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้
เป็นเมล็ดพันธุ์และบริโภคเองในครัวเรือนแล้ว ข้าวเปลือกส่วนที่เหลือจะถูกขายผ่านสองช่องทางหลัก คือ ขาย
ให้กับโรงสีโดยตรง และขายผ่านพ่อค้าผู้รวบรวมข้าวเอกชนหรือสหกรณ์การเกษตรเพื่อส่งให้โรงสีอีกต่อหนึ่ง
โรงสีข้าวจะทำหน้าที่แปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร รวมถึงการคัดเกรด บรรจุ และกระจายขนส่งข้าวสาร
โดยข้าวสารที่ออกจากโรงสีส่วนหนึ่งจะถูกเก็บไว้จำหน่ายในท้องที่ ส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปยังกรุงเทพมหานคร ซึ่ง
เป็นศูนย์กลางการค้าข้าวของประเทศ หลังจากนั้นผลผลิตข้าวจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามลักษณะการใช้
ประโยชน์ของข้าว ได้แก่ การบริโภคโดยตรงในรูปข้าวสาร การแปรรูป และการส่งออก (มาฆะศิริ เชาวกุล 2553,
อ้างใน สมพร อิศวิลานนท์ 2553)
การส่งผ่านข้าวสารจากโรงสีไปยังผู้บริโภคภายในประเทศมี 2 รูปแบบ คือ โรงสีบรรจุข้าวสารใส่ถุงหรือ
กระสอบเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคเองโดยตรง หรือโรงสีขายผ่านร้านค้าข้าวสาร และการขายผ่านตลาดสมัยใหม่
(modern trade) ในขณะขณะที่ข้าวสารอีกส่วนหนึ่งจะถูกใช้เป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ อาทิ
เส้นก๋วยเตี๋ยว อาหารสำเร็จรูป เบียร์ อาหารสัตว์ พลังงานทดแทน ฯลฯ