Page 27 -
P. 27
โครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
23
บทที่ 3
นโยบายรักษาเสถียรภาพราคาข้าวของประเทศไทย
ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกข้าว
จำนวน 11.63 ล้านตัน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศที่สำคัญ และในปีการผลิต พ.ศ. 2559/60 มี
เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 3.71 ล้านครัวเรือน มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี 58.43 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 42.49
ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีจำนวนมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ การพัฒนาและยกระดับ
คุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจึงเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลทุกยุคสมัยที่
ผ่านมาได้ดำเนินมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวมาโดยตลอดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
ในบทนี้จะกล่าวถึงโครงการของรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวที่ผ่านมาในอดีตจำนวน 5
โครงการ ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2524/25 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต
2544/45 โครงการประกันราคาข้าว ปีการผลิต 2552 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2525/56 และ
โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2559/60 โดยมีรายละเอียดดังนี้
3.1 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2524/25
โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเริ่มต้นในปีการผลิต 2524/25 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาข้าวในประเทศค่อนข้าง
ตกต่ำ ดำเนินงานในรูปแบบโครงการขนาดเล็กโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อัน
เนื่องมาจากแรงกดดันทางการเมืองที่ต้องการให้ ธ.ก.ส. ยกเลิกหนี้สินเกษตรกร และเลื่อนกำหนดชำระหนี้สินของ
เกษตรกร อีกทั้งยังเป็นการชะลอการขายข้าวเปลือกในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวและลดอุปทานข้าวที่ออกสู่ตลาด
เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในการดำรงชีพโดยไม่จำเป็นต้องขายข้าว ทันทีในฤดูเก็บเกี่ยว และสามารถไถ่ถอนข้าวใน
ภายหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงที่ราคาข้าวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น (สมพร อิศวิลานนท์, 2554)
ในปี พ.ศ. 2525 ธ.ก.ส. จึงได้นำมาตรการจำนำข้าวเปลือกมาใช้ โดยเริ่มทดลองโครงการดังกล่าวใน 2
จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ต้องการเก็บข้าวเปลือกไว้
ขายในช่วงที่มีราคาดี สามารถนำข้าวมาจำนำไว้กับ ธ.ก.ส. (นิพนธ์ พัวพงศกร, 2553b) เกษตรกรที่นำข้าวมาจำนำ