Page 30 -
P. 30
โครงการรวบรวมและจัดทําวารสารอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
24 วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
3) การมีส่วนร่วมในการกำหนดและรักษากติกาป่าชุมชนร่มโพธิ์ทอง
ในการก่อตั้งกลุ่มป่าชุมชนร่มโพธิ์ทอง สมาชิกในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาป่า
ชุมชนร่มโพธิ์ทองด้วย กฎระเบียบจึงเป็นที่ยอมรับของสมาชิก และทำให้สมาชิกรู้สึกร่วมถึงการต้องดูแล
รักษากติกาของกลุ่มที่ได้ร่วมกันกำหนดขึ้นมา
กฎระเบียบป่าชุมชนร่มโพธิ์ทอง กำหนดไว้ดังนี้
1) ห้ามตัดไม้ระยะ 5 ปี หลังจากตั้งป่าชุมชนและใช้ได้เมื่อป่าสมบูรณ์แล้ว
2) ต้องมีการบำรุงรักษาป่าชุมชนร่วมกัน เช่น ร่วมป้องกันไฟป่า ร่วมปลูกเสริมป่า
3) ห้ามใช้ไม้ ถ้าไม่ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการป่าชุมชน
4) ห้ามเลี้ยงสัตว์ในป่าชุมชนบริเวณปลูกเสริม ภายในระยะเวลา 5 ปี
5) ห้ามล่าสัตว์ทุกชนิดในบริเวณป่าชุมชน
กฎระเบียบป่าชุมชนร่มโพธิ์ทองนี้ จะมีเขียนป้ายติดไว้ 2 แห่งที่ศาลาชุมชน (นายประจักษ์
แก้วโต: สัมภาษณ์, 2557) ผู้ให้ข้อมูลต่างแสดงความเห็นว่ากฎระเบียบทุกข้อมีความสำคัญทั้งหมด
เพราะสมาชิกในชุมชนร่วมกันคิดและบัญญัติขึ้นมา เป็นสิ่งที่สมาชิกในชุมชนยอมรับ
กฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการจัดการป่าชุมชนร่มโพธิ์ทอง
เมื่อพิจารณาถึงกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดหรือสมาชิกในชุมชนให้ความสำคัญมาก
ที่สุดในการบริหารจัดการดูแลป่าชุมชน ผู้ให้ข้อมูลสรุปว่า คือ กฎระเบียบเรื่อง “ห้ามตัดไม้ระยะ 5 ปี
หลังจากตั้งป่าชุมชนและใช้ได้เมื่อป่าสมบูรณ์แล้ว” “ห้ามใช้ไม้ ถ้าไม่ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการ
ป่าชุมชน” และ “ต้องมีการบำรุงรักษาป่าชุมชนร่วมกัน เช่น ร่วมป้องกันไฟป่า ร่วมกันปลูกเสริมป่า” ทั้งนี้
กฎระเบียบเรื่อง “ห้ามตัดไม้ระยะ 5 ปี หลังจากตั้งป่าชุมชนและใช้ได้เมื่อป่าสมบูรณ์แล้ว” เป็นการ
สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับผืนป่าทำให้ป่าในชุมชนยังคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ ในขณะที่การ
ละเมิดตัดไม้เป็นสิ่งที่น่าละอายสำหรับสมาชิกในชุมชน เพราะไม่ใช่เพียงเป็นการทำลายป่าเท่านั้น แต่ยัง
เป็นการทำลายกฎระเบียบที่สมาชิกชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้นมาด้วย อย่างไรก็ดี “การห้ามใช้ไม้ถ้าไม่ได้รับ
การอนุญาตจากคณะกรรมการป่าชุมชน” เป็นกฎที่กำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากป่า
ชุมชน ในลักษณะของการยืดหยุ่นการบังคับใช้กฎระเบียบ ว่าสามารถใช้ไม้ได้โดยเฉพาะการใช้ไม้เพื่อ
ประโยชน์ส่วนร่วม การใช้ไม้สามารถทำได้โดยการขออนุญาตจากคณะกรรมการป่าชุมชน ทำให้สมาชิกรับ
รู้ประโยชน์ของการร่วมกันดูแลป่าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมว่าการดูแลป่าชุมชนนั้นก็เพื่อประโยชน์ส่วนร่วม
ของชุมชนนั่นเอง ในทางเดียวกัน ปัจจุบันสมาชิกชุมชนเริ่มใช้ประโยชน์จากป่ามากขึ้น กฎระเบียบข้อนี้จึง
เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้นด้วย (นายบุญมี อังกระโทก: สัมภาษณ์, 2557) การมีส่วนร่วมในการใช้
ประโยชน์จากป่าชุมชนนี้เป็นการเพิ่มความรู้สึกความเป็นเจ้าของป่าชุมชนร่วมกันของสมาชิกในชุมชน
ด้วยว่า “เราร่วมกันดูแลป่าและเราก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน” นอกจากนี้ เมื่อมีกฎระเบียบในการห้ามตัดไม้
และการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนแล้ว กฎระเบียบยังกำหนดว่า “ต้องมีการบำรุงรักษาป่าชุมชนร่วมกัน
เช่น ร่วมป้องกันไฟป่า ร่วมกันปลูกเสริมป่า” เพื่อเป็นการดูแลป่าชุมชนอย่างยั่งยืนด้วย กฎระเบียบข้อนี้
ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนในการดูแลและอนุรักษ์ป่าชุมชนและเป็นที่มาของกิจกรรม
ชุมชนหลากหลายรูปแบบ เช่น การปลูกต้นไม้ประจำปี กิจกรรมร่วมป้องกันไฟป่า เป็นต้น