Page 222 -
P. 222
โครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ปรับระดับกรดอะมิโนให้สมดุล เนื่องจากกากเมล็ดทานตะวันมีระดับไลซีน และค่าการย่อยได้
ของกรดอะมิโนที่จำเป็นต่าง ๆ ต่ำกว่ากากถั่วเหลือง สำหรับอาหารสัตว์ระยะเล็กไม่แนะนำให้
ใช้กากเมล็ดทานตะวันเนื่องจากมีระดับเยื่อใยสูงและมีพลังงานต่ำ
กากถั่วลิสง (peanut meal) เป็นผลพลอยได้จากการสกัดน้ำมันเช่นเดียวกัน แต่เดิมมีการ
ผลิตกากถั่วลิสงอัดน้ำมันซึ่งมีระดับไขมันตกค้างสูงกว่า ทำให้เกิดปัญหาไขมันหืนเมื่อเก็บไว้
เป็นเวลานาน และมีผลทำให้เกิดไขมันเหลวในซากสุกรขุน เนื่องจากมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว
อยู่ในสัดส่วนที่สูง (ตาราง 6-1) ปัจจุบันจึงนิยมใช้ชนิดสกัดน้ำมันมากกว่า กากถั่วลิสงสกัด
น้ำมันมีระดับโปรตีน 44-50% ขึ้นกับขั้นตอนการนำเปลือกออก ซึ่งระดับโปรตีนใกล้เคียงกับ
กากถั่วเหลืองแต่ขาดความสมดุลของกรดอะมิโนที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไลซีน เมทไธโอนีน
และทริฟโตเฟน อีกทั้งค่าการย่อยได้ของกรดอะมิโนต่าง ๆ มีค่าต่ำกว่ากากถั่วเหลือง
สารยับยั้งการใช้ประโยชน์จากอาหารที่พบในกากถั่วลิสงมีเช่นเดียวกับในพืชตระกูลถั่วอื่น ๆ
อาทิ สารยับยั้งทริฟซิน และสารยับยั้งการย่อยโปรตีนชนิดอื่น ๆ อย่างไรก็ตามการผ่านกระ-
บวนการผลิตที่เหมาะสมสามารถทำลายสารเหล่านี้ได้ ปัญหาที่พบในการใช้กากถั่วลิสงที่สำคัญ
อีกประการหนึ่งคือ มักพบการปนเปื้อนด้วยสารพิษจากเชื้อราโดยเฉพาะอย่างยิ่งอะฟลาทอก
ซิน ซึ่งสร้างจากเชื้อรา Aspergillus flavus โดยสามารถพบได้ตั้งแต่ในแปลงปลูก จนถึงเก็บ
เกี่ยว สัตว์ปีกโดยเฉพาะลูกเป็ดมีการตอบสนองต่อสารพิษอะฟลาทอกซินได้เร็วมาก โดยอะ
ฟลาทอกซินชนิด B1 ในระดับ 250 พีพีบี (ไมโครกรัม/กก.) สามารถมีผลต่อตับและไต ตลอด-
จนลดภูมิคุ้มกันโรคของสัตว์ลง
การใช้กากถั่วลิสงทดแทนกากถั่วเหลืองในสูตรอาหารจำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องสารพิษจาก
เชื้อราตลอดจนกระบวนการผลิตที่เหมาะสม และจำเป็นต้องมีการปรับระดับของกรดอะมิโนที่
จำเป็นให้สมดุล ในสัตว์ปีกระยะเล็กไม่นิยมใช้กากถั่วลิสงในสูตรอาหาร ส่วนในระยะรุ่น-ขุน
หรือระยะให้ผลผลิตควรใช้กากถั่วลิสงไม่เกิน 4% ของสูตรอาหาร สำหรับสุกรสามารถใช้กาก
ถั่วลิสงที่มีคุณภาพดีทดแทนกากถั่วเหลืองได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ในระยะเล็ก และไม่เกิน 2 ใน 3
สำหรับระยะรุ่น-ขุน
วัตถุดิบอาหารสัตว์ 219