Page 19 -
P. 19
โครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
15
ในกรณีที่สินค้ามีลักษณะเน่าเสียง่าย (perishable) ผู้ขายมักจะลังเลใจในการปรับขึ้นราคาขาย เพราะ
เกรงว่าจะขายไม่ออกและต้องเก็บสินค้าไว้นานขึ้นซึ่งอาจทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย การตัดสินใจของผู้ผลิต
ดังกล่าวนำไปสู่การส่งผ่านราคาที่ไม่สมมาตรในเชิงลบ คือ ราคาขายจะปรับตัวสูงขึ้นได้ยากและช้ากว่าการปรับลด
การบริหารจัดการสินค้าคงคลังยังมีส่วนทำให้เกิดการส่งผ่านราคาที่ไม่สมมาตร ถ้าต้นทุนในการเก็บรักษา
สินค้าคงคลังไม่สูงมากนัก เมื่ออุปสงค์ต่อสินค้าชะลอตัว ผู้ผลิตมักจะเลือกชะลอการขายและเก็บสินค้าไว้ใน
คลังสินค้าแทนที่จะลดราคาขาย ในทางตรงกันข้าม เมื่ออุปสงค์ต่อสินค้ามีมากขึ้น ผู้ผลิตจะตัดสินใจเพิ่มราคาขาย
ทันที เพราะไม่มีความจำเป็นจะต้องเร่งรีบระบายสินค้าคงคลัง กรณีเช่นนี้นำไปสู่การส่งผ่านราคาที่ไม่สมมาตรใน
เชิงบวก คือ ราคาขายจะปรับสูงขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการปรับลดราคาขายลง
ถึงแม้ว่าต้นทุนในการปรับราคาสินค้าจะมีเป็นสาเหตุทำให้การส่งผ่านราคามีความไม่สมมาตร แต่ก็จะเป็น
เพียงแค่ความไม่สมมาตรในด้านความเร็วของการปรับราคาขึ้นลงเท่านั้น ต้นทุนในการปรับราคาสินค้าไม่สามารถ
อธิบายการส่งผ่านราคาที่ไม่สมมาตรในด้านขนาดของการปรับราคาขึ้นลง ซึ่งต่างจากอำนาจเหนือตลาดที่สามารถ
อธิบายกลไกการปรับตัวของราคาที่มีความไม่สมมาตรได้ทั้งในด้านขนาดและความเร็ว
2.1.3 สาเหตุอื่น
นอกจากอำนาจเหนือตลาดและต้นทุนในการปรับราคาสินค้าแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดความไม่
สมมาตรในการส่งผ่านราคาอีก เช่น มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าของรัฐบาล ปัญหาข้อมูลข่าวสารไม่สมมาตร
เป็นต้น ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
นโยบายพยุงราคาสินค้าหรือการกำหนดราคาสินค้าขั้นต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าเกษตรเป็น
สาเหตุให้เกิดการส่งผ่านราคาที่ไม่สมมาตร ถ้าหากนโยบายดังกล่าวทำให้ผู้ค้าส่งหรือผู้ค้าปลีกเชื่อว่าการปรับตัว
ลดลงของราคาสินค้าจะเป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อราคาสินค้าปรับตัวลงมาระยะเวลาหนึ่ง รัฐบาลก็จะเข้า
มาแทรกแซง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในทางตรงกันข้าม เมื่อราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลมักจะเห็นว่า
เกษตรกรได้รับความเดือนร้อนและจะไม่เข้าแทรกแซงเพื่อทำให้ราคาสินค้าลดลงแต่อย่างใด ทำให้การปรับราคา
สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะคงอยู่เป็นระยะเวลานานกว่าการปรับราคาลดลง