Page 41 -
P. 41
โครงการรวบรวมและจัดทําวารสารอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 41 ฉบับที่ 2 35
ได้ศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อนมากว่าสามสิบปี ได้กระตุ้นให้เห็นว่าวิกฤตนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้สัมผัส รับรู้ได้
และจะทำให้ก้าวไปสู่ชัยชนะในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ภัยพิบัติและหายนะต่างๆ ที่กำลังคืบคลานสู่โลก
และสู่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมทั้ง มนุษย์และสัตว์ ในปัจจุบันทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้หันกลับมาให้ความสำคัญ
อีกครั้ง และพยายามที่จะปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “นิเวศวิทยา” ในปัจจุบันทฤษฎีนิเวศวิทยาที่
เกี่ยวข้องได้ค้นหาแนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้นมากกว่าการดูแลรักษาทั่วๆ ไป แต่ต้องเป็นแนวทางเพื่อแก้ไข
อย่างยั่งยืน เกิดเป็นนิเวศวิทยาเชิงลึก (Deep Ecology) ที่มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกเพื่อการพัฒนาที่
ยั่งยืนและการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติอย่างมั่นคง
การสร้างจิตสำนึกเพื่อตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของ
มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มีความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การตระหนักรู้ถึงองค์รวมของ
ความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์ย่อมก่อให้กาย จิต จิตวิญญาณ สังคม และโลก มีความสมดุล
และมีความเกื้อกูลอยู่เป็นปรกติสุข ทั้งนี้ โดยการมองธรรมชาติ โลก และจักรวาลแบบไม่แยกส่วนออก
จากกัน ดังทรรศนะของปีเตอร์ ฮาร์วีย์ ที่กล่าวถึงพระพุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อมว่าสรรพสิ่งมีลักษณะ
เป็นข่ายใยที่ประสานเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดจะดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองโดยปราศจากสิ่งอื่น นั่นคือ
การมองว่านิเวศวิทยาโลกและจักรวาลล้วนเป็นหนึ่งเดียว (ปีเตอร์ ฮาวีย์, 2538: 56) และสิ่งที่จะทำให้
มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างมิตรภาพและยั่งยืนก็ด้วยอาศัยการใช้ประโยชน์อย่างสมดุล แม้การ
ทำเกษตรดังกล่าวเบื้องต้นก็ต้องอาศัยการทำเกษตรแบบคุณธรรมด้วย ความพยายามพลิกฟื้นการเกษตร
แบบธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาระบบนิเวศ ในขณะเดียวกัน เกษตรกรต้องมี “คุณธรรม”
นำทางด้วย เช่นคำกล่าวที่ว่า “ทำเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว ถามว่ามันรอดจริงไหม ถ้าไม่กำกับด้วย
ธรรมะ” (ฐิตินันท์ ศรีสถิต และคณะ, 2557: 143-144) เนื่องด้วยพระพุทธศาสนานั้นส่งเสริมพัฒนาทั้ง
มนุษย์และธรรมชาติมาอย่างกลมกลืนและยาวนาน หลักพุทธธรรมและหลักวินัยล้วนส่งเสริมให้
ทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรดิน
1
2
น้ำ ป่า ไม่ทำลายพืช ของเขียว (ที.สี. (ไทย) 9/9/5) ไม่พรากชีวิตสัตว์ (วิ.มหา. (ไทย) 2/631/537) แม้
เพียงเป็น “กิ่งไม้” ก็ไม่ควรหักราน (ขุ.เปต. (ไทย) 26/106/150; ขุ.ชา. (ไทย) 27/1469/270; 1990/344;
3
ขุ.ชา. (ไทย) 28/63/15; 400/102; 996/237) พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาเพื่อการพัฒนาจิต พัฒนาตนและ
สังคม ปรัชญาแนวคิดของพุทธศาสนาก่อกำเนิดภายใต้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมีมิติว่าด้วย
สิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมชีวิตทุกด้าน ผู้ที่ขับเคลื่อนให้พระพุทธศาสนานำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างน่าพึงใจ
ได้แก่ “พระภิกษุสงฆ์” และเป็นการทำงานแบบปัจเจก คือการทำงานที่แยกออกต่างหากจากคณะสงฆ์
ไม่ใช่การทำงานในฐานะเป็นตัวแทนหรือเป็นภาพรวมของคณะสงฆ์ไทย แม้จะมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น
กลุ่มต่างๆ ก็ตาม เช่น กลุ่มเสขิยธรรม กลุ่มสหธรรมเพื่อการพัฒนา กลุ่มพระสงฆ์อีสานใต้ กลุ่มโพธิยา
1 หมายถึง พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (ภาษาไทย) เล่มที่ 9 ข้อที่ 5 หน้าที่ 5
2 หมายถึง พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ (ภาษาไทย) เล่มที่ 2 ข้อที่ 631 หน้าที่ 537
3 หมายถึง พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ (ภาษาไทย) เล่มที่ 26 ข้อที่ 106 หน้าที่ 150, ขุททกนิกาย ชาดก (ภาษาไทย)
เล่มที่ 27 ข้อที่ 1469 หน้าที่ 270 และข้อที่ 1990 หน้าที่ 344 และขุททกนิกาย ชาดก (ภาษาไทย) เล่มที่ 28 ข้อที่ 63 หน้าที่ 15,
ข้อที่ 400 หน้าที่ 102 และข้อที่ 996 หน้าที่ 237.