Page 141 -
P. 141
โครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
บทที่ 6
การเปรียบเทียบและการพัฒนารูปแบบธุรกิจการเกษตร
จากเนื้อหาในบทที่ 4 ที่ได้แสดงถึงลักษณะพื้นที่และความแตกต่างของระบบเกษตรและรูปแบบธุรกิจ
การเกษตรในแต่ละพื้นที่และปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ภายใต้ธุรกิจการเกษตรแบบดั้งเดิม และบทที่ 5 ที่ได้
แสดงการเปรียบเทียบการเลือกปลูกพืชและลักษณะการเกษตรแบบต่างๆ เพื่อให้เห็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการ
เลือกพืชและลักษณะการเกษตร และผลของลักษณะการเกษตรต่อตัวแปรความยั่งยืนต่างๆ แล้ว การพัฒนา
รูปแบบธุรกิจการเกษตรเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสําคัญในการแก้ปัญหาที่เกษตรกรเผชิญอยู่ภายใต้ธุรกิจ
การเกษตรแบบดั้งเดิมและมีความสําคัญมากต่อตัวแปรความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่
ในหลายพื้นที่พบว่า มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาจากรูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมโดยการสร้าง
กลไกผ่านรูปแบบธุรกิจเกษตรที่แตกต่างขึ้น เช่น เพื่อแก้ปัญหาจํานวนผลผลิตของเกษตรกรแต่ละรายไม่มาก
พอและมีค่าขนส่งสูงนั้น เกษตรกรในบางพื้นที่ใช้การรวมกลุ่มในการขายผลผลิตเพื่อให้มีปริมาณผลผลิตที่สูง
พอและลดต้นทุนค่าขนส่งผลผลิตไปยังปลายทาง เช่น ในกรณีบ้านถ้ําเวียงแก นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรที่
รวมกลุ่มกันในบางพื้นที่ยังมีการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตตนเองให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถขายในตลาดบนหรือ
ในตลาดที่ผู้รับซื้อต้องการสินค้าคุณภาพสูงได้ ในกรณีนี้จะทําให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าได้ราคาสูงขึ้นและ
มีอํานาจต่อรองเพิ่มขึ้นเนื่องจากสินค้ามีความโดดเด่นมากกว่าสินค้าทั่วไป เช่น การผลิตมะม่วงเพื่อส่งออก
หรือการผลิตกาแฟของเกษตรกรบางกลุ่มในบ้านมณีพฤกษ์ เป็นต้น เกษตรกรบางกลุ่มที่มีเงินทุนและมีผลผลิต
ที่เหมาะสมจะแปรรูปผลผลิตซึ่งจะทําให้สามารถกระจายความเสี่ยงและเก็บรักษาผลผลิตได้นานขึ้น เช่น การ
แปรรูปกาแฟ เป็นต้น
เกษตรกรหลายรายในหลายพื้นที่มีการกระจายความเสี่ยงทางราคาด้วยการปลูกพืชหลายชนิดหรือ
การปลูกข้าวไร่ไว้บริโภคเอง การกระจายความเสี่ยงในลักษณะนี้พบได้ในทุกพื้นที่และเห็นได้ชัดในพื้นที่ที่เลือก
ระบบเกษตรผสมผสาน เช่น พื้นที่บ้านโป่งคํา แม่จริม และบ้านถ้ําเวียงแกที่เน้นการปลูกพืชยืนต้น ควบคู่ไปกับ
การทําผักในโรงเรือนและผักนอกโรงเรือน สําหรับพื้นที่อื่นที่เน้นการปลูกพืชยืนต้นเชิงเดี่ยว เกษตรกรจะ
กระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกไม้ยืนต้นหลายชนิด เช่น ในพื้นที่บ้านสบเป็ดและบ้านป่ากลาง ซึ่งเน้นการปลูก
มะม่วงเป็นหลัก แต่ก็จะกระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกลิ้นจี่ ลําไย หรือเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์มะม่วง
ร่วมด้วย หรือในพื้นที่บ้านมณีพฤกษ์และบ้านสันเจริญ ซึ่งปลูกกาแฟเป็นหลักก็จะกระจายความเสี่ยงด้วยการ
ปลูกผลไม้เมืองหนาว หรือลิ้นจี่ ลําไย ร่วมด้วย
ทั้งนี้ รูปแบบธุรกิจการเกษตรจะเป็นโครงสร้างสําคัญที่กําหนดวิธีหรือความเป็นไปได้ในการแก้ไข
ปัญหาหรือข้อจํากัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สูง ในพื้นที่ที่มีการพัฒนารูปแบบธุรกิจที่มีความเหมาะสมต่อบริบท
ของชุมชนและเอื้ออํานวยต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากธุรกิจแบบดั้งเดิมจะทําให้เกษตรกรรายย่อยมีอํานาจ
ต่อรองเพิ่มมากขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ในขณะที่ในหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาในการพัฒนารูปแบบ
ธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเองหรือการดําเนินรูปแบบที่อาจจะไม่สอดคล้องกับปัญหาเฉพาะของพื้นที่ ก็จะทําให้
เกษตรกรยังขาดอํานาจต่อรองและประสบปัญหาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไป
6-1