Page 111 -
P. 111
โครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พลวัตของความยากจน
4.5.3 ที่ดิน (land asset)
การครอบครองสินทรัพย์ของครัวเรือนนับเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดพลวัตความ
ยากจนของครัวเรือน (Baulch and Hoddinott, 2000) ที่ดินถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญอย่างมาก
ต่อการดำรงชีวิตของครัวเรือนและเป็นปัจจัยที่กำหนดพลวัตความยากจนของครัวเรือนโดยเฉพาะ
อย่างยิ่งครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและทำนา
เมื่อพิจารณาจากขนาดของฟาร์มหรือที่ดินที่ครัวเรือนครอบครอง พบว่าขนาดของฟาร์ม
ณ ระดับเริ่มต้นในปี 2531 ของกลุ่มยากจนเรื้อรังมีขนาดเฉลี่ย 18 ไร่ต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นขนาดที่
ต่ำสุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่ม และระดับเฉลี่ยโดยรวม และมีขนาดลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งคือเฉลี่ย
ไม่ถึง 9 ไร่ต่อครัวเรือนในปี 2552 ในขณะที่กลุ่มไม่เคยยากจนมีขนาดฟาร์มสูงสุด 32.5 ไร่ต่อครัวเรือน
และลดลงเพียงเล็กน้อยเป็น 30 ไร่ต่อครัวเรือน เมื่อเปรียบเทียบขนาดของฟาร์มระหว่างกลุ่มจะ
เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยขนาดฟาร์มในปี 2552 ของกลุ่มไม่เคยยากจนคิดเป็น 3.5 เท่า
เมื่อเทียบกับกลุ่มยากจนเรื้อรัง และเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 2 เท่าในปี 2531 สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ
ของการถือครองที่ดินที่มากขึ้นระหว่างกลุ่มครัวเรือน (ตารางที่ 4.18)
แต่เมื่อพิจารณากลุ่มยากจนครั้งคราว จะเห็นว่ากลุ่มออกจากความยากจนได้มีขนาด
ฟาร์มเล็กกว่ากลุ่มเข้าสู่ความยากจน โดยมีขนาดต่ำกว่าในทั้งสองปีที่ทำการศึกษา จึงอาจตั้งข้อ
สังเกตได้ว่าขนาดของฟาร์มเริ่มต้นน่าจะไม่มีอิทธิพลหรือความสัมพันธ์ต่อพลวัตความยากจนโดย
เฉพาะอย่างยิ่งการเข้าและออกจากความยากจนหรือความยากจนแบบครั้งคราว สำหรับขนาด
ของพื้นที่ทำการเพาะปลูกข้าวกลับพบว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับพลวัตความยากจน โดยขนาด
พื้นที่เพาะปลูกของกลุ่มยากจนเรื้อรังมีขนาดต่ำสุด และลดลงจากปี 2531 กลุ่มเข้าสู่ความยากจน
มีขนาดพื้นที่เพาะปลูกลดลงเช่นเดียวกัน ในขณะที่กลุ่มออกจากความยากจนและกลุ่มไม่เคยจน
กลับมีขนาดของพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นศักยภาพ
ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ครัวเรือนมีอยู่ในการเพาะปลูกข้าวได้มากขึ้นและส่งผลให้ครัวเรือน
ออกจากความยากจนได้
110 สถาบันคลังสมองของชาติ