Page 113 -
P. 113
โครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พลวัตของความยากจน
ปัจจัยทางด้านที่ดินที่สำคัญอีกปัจจัยคือขนาดพื้นที่ที่มีชลประทาน ซึ่งมีทิศทางสอดคล้อง
กับขนาดพื้นที่เพาะปลูก กล่าวคือ กลุ่มยากจนเรื้อรังมีขนาดพื้นที่ชลประทานต่ำสุด และมีสัดส่วน
ลดลงจากปี 2531 เช่นเดียวกับกลุ่มเข้าสู่ความยากจนในขณะที่กลุ่มออกจากความยากจนและ
กลุ่มไม่เคยจนมีขนาดพื้นที่ชลประทานมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าขนาดพื้นที่เพาะปลูกข้าวและ
พื้นที่ชลประทานมีความสำคัญในการกำหนดพลวัตความยากจนผลผลิตข้าวต่อไร่หรือผลิตภาพ
การปลูกข้าวเป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญในการกำหนดสถานะความยากจนของครัวเรือน
จากข้อมูลจะเห็นว่ากลุ่มยากจนเรื้อรังและกลุ่มเข้าสู่ความยากจนมีผลผลิตข้าวต่อไร่ลดลง
ในขณะที่กลุ่มไม่เคยยากจนและกลุ่มออกจากความยากจนมีผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้น
สำหรับรูปแบบการถือครองที่ดิน ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าทุกกลุ่มมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน
นั่นคือต่างมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีที่ดินเป็นของตนเองลดลง อย่างไรก็ดี พบว่ากลุ่มยากจนเรื้อรัง
มีสัดส่วนครัวเรือนที่ครอบครองที่ดิน แต่ไม่ทำการเกษตรบนที่ดินของตัวเองสูง ในขณะที่กลุ่มที่
ออกจากความยากจนได้และกลุ่มไม่ยากจน มีสัดส่วนครัวเรือนที่มีที่ดินแต่ไม่ทำการเกษตรต่ำกว่า
สำหรับการเช่าที่ดิน พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มยากจนเรื้อรังและยากจน
ครั้งคราว โดยสัดส่วนครัวเรือนที่เช่าที่ดินของผู้อื่นสูงขึ้นในกลุ่มยากจนเรื้อรังเช่นเดียวกับกลุ่ม
ที่ออกจากความยากจนได้ ในขณะที่กลุ่มเข้าสู่ความยากจนกลับมีสัดส่วนเช่าที่ดินลดลง
4.5.4 สินทรัพย์กายภาพ (physical asset)
สินทรัพย์ทางกายภาพเป็นอีกปัจจัยสำคัญประการหนึ่งเนื่องจากถือเป็นเครื่องมือในการ
ดำรงชีพและช่วยสนับสนุนฐานะความเป็นอยู่ของครัวเรือนในชนบทเมื่อพิจารณาตามมูลค่า
สินทรัพย์ ณ ปีเริ่มต้นในปี 2531 พบว่ากลุ่มยากจนเรื้อรังถือครองสินทรัพย์ทุนภาคเกษตร
สินทรัพย์นอกภาคเกษตร และมูลค่าปศุสัตว์ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่กลุ่มไม่เคย
จนมีมูลค่าสินทรัพย์ภาคเกษตร สินทรัพย์นอกภาคเกษตร และปศุสัตว์สูงที่สุด รองลงมาคือกลุ่ม
ออกจากความยากจน ซึ่งมีมูลค่าเริ่มต้นของสินทรัพย์สูงกว่ากลุ่มเข้าสู่ความยากจนรูปแบบ
ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของการถือครองสินทรัพย์ของครัวเรือน ในปี 2531
มูลค่าสินทรัพย์ภาคเกษตรของกลุ่มไม่เคยจนมีมากกว่ากลุ่มยากจนเรื้อรังถึงเกือบเจ็ดเท่า และ
ลดลงเป็นสามเท่าในปี 2552 ในทางตรงข้าม มูลค่าสินทรัพย์นอกภาคเกษตรกลุ่มไม่เคยยากจน
มากกว่ากลุ่มยากจนเรื้อรังประมาณ 2.5 เท่า (ตารางที่ 4.19)
112 สถาบันคลังสมองของชาติ