Page 29 -
P. 29
โครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
บทที่ 2 แนวคิด ทฤษฎี และการทบทวนวรรณกรรม
ในงานการศึกษาแนวทางในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนของงานวิจัยนี้จะมีการทบทวน
แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเด็นว่าด้วยการบริการของระบบนิเวศเพื่อให้เข้าใจ
การบริการของระบบนิเวศตามธรรมชาติที่เอื้อต่อการเกษตร แนวคิดว่าด้วยเรื่องของกรรมสิทธิ์
เหนือทรัพยากรเพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการใช้การดูแลทรัพยากรกับกรรมสิทธิ์ใน
หลากหลายรูปแบบ รวมถึงแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตาม
กรอบของสหประชาชาติเพื่อนํามาใช้เป็นกรอบการพิจารณาควบคู่กับแนวคิดว่าด้วยการจัดการ
ทรัพยากรยั่งยืนและเกษตรยั่งยืน นอกจากนั้นทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องในประเด็นรัฐกับ
นโยบายการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรบนพื้นที่สูง และการเกษตรบนที่สูงกับการจัดการ
ทรัพยากร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
2.1 แนวคิดว่าด้วยบริการของระบบนิเวศ (Ecosystem services)
แนวคิดเรื่องระบบนิเวศถูกนําเสนอในปี 2407 โดย March และแนวคิดนี้ถูกใช้อย่างเป็น
ทางการโดย Tansley (Willis, 1997) การทําหน้าที่ของระบบนิเวศสร้างประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ
ผ่านโครงสร้างและกระบวนการของระบบนิเวศ (de Groot, Wilson, & Boumans, 2002) Westman
(1997) ได้นิยามประโยชน์ที่ได้รับจากระบบนิเวศให้กับมนุษยชาติว่า “บริการของธรรมชาติ
(Natural services)” ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า “บริการของระบบนิเวศหรือนิเวศบริการ (Ecosystem
services)” (Fisher, Turner, & Morling, 2009)
Millennium Ecosystem Assessment (MEA) ได้ให้คําจํากัดความของบริการของระบบนิเวศ
ว่า คือ ประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากระบบนิเวศโดยบริการนี้ถูกผลิตขึ้นมาจากการปฏิสัมพันธ์ภายใน
ระบบนิเวศ ในขณะที่ Daily (1997) ให้คําจํากัดความของนิเวศบริการว่าคือสถานภาพและ
กระบวนการที่ระบบนิเวศตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ คํ้าจุนและเติมเต็มชีวิตของมนุษย์ ซึ่ง
หมายรวมถึงการเป็นแหล่งผลิตทางตรง ควบคุมกลไกและบริการทางด้านวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อมวล
มนุษย์ อีกทั้งยังบริการด้านการสนับสนุนที่จําเป็นในการรักษาหน้าที่ต่าง ๆของบริการอื่น ๆของ
ระบบนิเวศให้สามารถทําหน้าที่ได้ต่อไป โดย MEA ได้จําแนกบริการต่าง ๆ ออกเป็น 4 ประเภท
ดังนี้
1) ให้บริการในการผลิตหรือเป็นแหล่งผลิต (Provisioning services) เช่น อาหาร เส้นใย
เชื้อเพลิง นํ้า ไม้ ยา และแหล่งพันธุกรรมพืชและสัตว์ การให้บริการจากการเป็นแหล่งผลิตนี้
ก่อให้เกิดมูลค่าจากการใช้ประโยชน์โดยตรงจากระบบนิเวศ (Direct use value)
9