Page 67 -
P. 67
โครงการรวบรวมและจัดทําวารสารอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 41 ฉบับที่ 2 61
บทนำ
การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยมีพัฒนาการจากการจัด
ค่ายอาสาพัฒนาในชนบท ซึ่งการจัดค่ายอาสาพัฒนาในยุคแรกเป็นค่ายอาสาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและได้
ขยายมาสู่การทำกิจกรรมค่ายอาสาในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีรูปแบบการจัดกิจกรรมที่เน้นพัฒนาระบบ
สาธารณูปโภคพื้นฐานของชุมชน ทั้งการขุดบ่อน้ำ ปรับผิวถนน การสร้างศาลาประชาคม สร้างโรงเรียน
ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ไปพร้อมๆกับการทำความเข้าใจ
สถานการณ์ในชุมชนและสังคมไทยขณะนั้น (ละออ พลายน้ำงาม, 2518: 6-18) หลังพ.ศ. 2500 ความ
คึกคักของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของเยาวชนยังคงอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ โดยมีกิจกรรม
ที่หลากหลายไม่เฉพาะการทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาเท่านั้น ยังมีการจัดเวทีเสวนาเพื่อพูดคุย
สถานการณ์ปัญหาสังคม วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยนำเสนอผ่านหนังสือที่ผลิตขึ้นมาเอง
ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การเมืองยุคเผด็จการ กระจายไปทั่วทุกมหาวิทยาลัย
ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 2556) การทำกิจกรรมเพื่อ
สังคมของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้จึงเข้มข้นไปด้วยการตั้งคำถามกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม
โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งนับว่าเป็นยุคประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน
เยาวชน นักศึกษา มีความสนใจปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้น เกิดการจัดตั้งองค์กรต่างๆทั้งส่วนกลางและ
ภูมิภาค เช่น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาภาคใต้ ศูนย์นิสิตนักศึกษาโคราช เป็นต้น โดยมีศูนย์กลางนิสิตนัก
ศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นแกนนำหลัก นักศึกษาเข้าร่วมช่วยเหลือกลุ่มกรรมกรชาวนา กลุ่มแรงงาน มี
เวทีพูดคุย วิเคราะห์ปัญหาทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนจนของนักศึกษา
และเยาวชน ได้สร้างความหวาดวิตกให้กับรัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงในยุคเผด็จการ จึงเกิดการสร้าง
กระแสสังคมเพื่อทำลายภาพพจน์ของนักศึกษาว่าเป็นกลุ่มที่สร้างความวุ่นวายในสังคม เป็นพวกยุยง
ประชาชนให้เกิดการประท้วง หรือรับเงินต่างชาติเพื่อสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง จนนำมาสู่การสังหาร
หมู่นักศึกษาประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (สงวน นิตยารัมภ์พงศ์, 2547: 22-62) ส่งผลให้
ประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานในช่วงเวลานั้นกลับเข้าสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้ง
เมื่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของนักศึกษาและเยาวชนในช่วงเวลาดังกล่าวถูกจับจ้องจากฝ่าย
ความมั่นคง ทำให้การขับเคลื่อนกิจกรรมทำได้ค่อนข้างยาก ในช่วงนี้การทำงานเพื่อสังคมจึงกลายเป็น
บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Government Organizations) (จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร,
2542) ส่วนนักศึกษาและเยาวชนได้กลับไปให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาที่ได้รับการ
สนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเท่านั้น
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าการดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศได้ทำให้เยาวชนมี
โอกาสทางการศึกษามากขึ้น แต่ไม่ได้เอื้อให้เกิดการรวมกลุ่มทำงานเพื่อสังคมของเยาวชนเช่นในอดีต อีก
ทั้งยังส่งผลให้เด็ก เยาวชน เป็นเพียงกลุ่มเป้าหมายของการผลิตสินค้าในตลาดการบริโภค เยาวชนถูก
เลี้ยงให้เติบโตขึ้นมาอย่างอ่อนแอ ไม่สู้งาน สับสนในชีวิต ไม่รู้จักคุณค่าตนเอง และมองประโยชน์ของ
ตนเองเป็นที่ตั้ง (สมพงษ์ จิตระดับ, 2547: 12-13) มีงานวิจัยบางชิ้นได้แสดงให้เห็นว่าสถาบันครอบครัว