Page 10 -
P. 10
โครงการรวบรวมและจัดทําวารสารอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4 วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
หรือสร้างเครือข่ายสมาชิก รวมทั้งมีกลไกในการบริหารจัดการสมาชิกและรวบรวมข้อมูลของภาคธุรกิจได้
อย่างเป็นระบบ
งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษากลุ่มผลประโยชน์ในสังคมไทยและชี้ให้เห็นถึงความเติบโตของ
องค์กรนอกภาครัฐในความหมายของ Riggs มากยิ่งขึ้นก็คือ งานของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ (2538) ซึ่ง
ให้ภาพความเติบโตขององค์กรธุรกิจในช่วงราวทศวรรษ 2520 นอกจากนี้ก็จะพบว่า การศึกษากลุ่มพลัง
ทางสังคมการเมืองได้ขยายตัวมาก โดยเฉพาะการทำวิทยานิพนธ์และภาคนิพนธ์หรือสารนิพนธ์ของนิสิต
นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งมักจะหยิบเอากลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาศึกษาเพื่อวิเคราะห์
ประเด็นพัฒนาการ การก่อเกิด การดำรงอยู่ การสร้างอิทธิพล และผลสำเร็จในการเคลื่อนไหวผลักดัน
ซึ่งผู้เขียนจะพิจารณาให้เห็นข้อจำกัดบางประการในส่วนท้ายของบทความ
2.ประเด็นถกเถียงบางประการเกี่ยวกับกรอบการวิเคราะห์แบบกลุ่มผลประโยชน์
ในส่วนนี้ ผู้เขียนต้องการหยิบบางประเด็นเกี่ยวกับกรอบการศึกษากลุ่มผลประโยชน์ในแง่
เครื่องมือและประเด็นศึกษาวิจัย ซึ่งคงเป็นเพียงข้อสังเกตบางประการที่เห็นว่าสำคัญเท่านั้น เป็นการหยิบ
ขึ้นมาพิจารณาเพื่อที่จะได้มีผู้ที่สนใจลองนำไปทำงานที่ลึกซึ้งต่อไป
2.1 ประเด็นถกเถียงเรื่องบทบาทหน้าที่ของกลุ่มผลประโยชน์
ตำราทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มผลักดันในวงวิชาการสังคมไทยก็มักจะกล่าวถีงหน้าที่
ของกลุ่มเอาไว้ ซึ่งอาจจะจัดหมวดหมู่หน้าที่และบทบาทออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
1.หน้าที่ในด้านความเป็นตัวแทน (representation) กล่าวคือ การสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม
ทางการเมืองและเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับระบบการเมือง เนื่องจากการเลือกตั้งมักจะมีวาระนานๆ
ครั้ง ทำให้การต่อรองหรือการผลักดันผลประโยชน์ของผู้คนในสังคมผ่านระบบการเลือกผู้แทนหรือ
ตัวแทนจึงมีความจำกัด มนตรี เจนวิทย์การ (2528) กล่าวถึงหน้าที่ของกลุ่มผลประโยชน์ในระบบ
การเมืองในแง่นี้เอาไว้ว่า กลุ่มผลประโยชน์ทำหน้าที่ในการสร้างสมดุลในการเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ ใน
สังคมการเมือง ทำให้การตัดสินใจการเมืองมีฐานอยู่บนการพิจารณาผลประโยชน์ ความต้องการของผู้คน
และทำหน้าที่เป็นกลไกที่ช่วยให้ประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งผลประโยชน์และความต้องการของกลุ่ม
ตน ทำให้ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายได้รับการพิจารณา เกิดการต่อรองเจรจา
2.หน้าที่ด้านการขยายช่องทางมีส่วนร่วมทางการเมือง (political participation channel)
ในสภาวะการเมืองปัจจุบันผู้คนในสังคมเข้าไปสังกัดกลุ่มทางสังคมการเมืองจำนวนมากยิ่งขึ้น นักทฤษฎี
กลุ่มผลประโยชน์มองเห็นถึงปรากฏการณ์ความขัดแย้งใหม่ๆ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การทำแท้ง
อัตลักษณ์ของผู้คน ฯลฯ ซึ่งการเมืองเช่นนี้ผู้คนไม่ได้อาศัยช่องทางการเมืองในระบบปกติ เช่น ลง
คะแนนเลือกตั้ง การอาศัยกลไกพรรคการเมือง ฯลฯ แต่อาศัยการระดมผู้คนผ่านการรณรงค์เพื่อแสวงหา
การสนับสนุนจากสาธารณชนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การร่วมลงชื่อ การเดินขบวน หรือรูปแบบอื่นๆ
3.หน้าที่ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ (education) กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มผลักดันช่วย
ทำให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้และเข้ามาร่วมถกเถียงประเด็นสาธารณะที่สำคัญๆ ช่วยทำหน้าที่ในการให้
ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองและสร้างจิตสำนึกทางการเมืองให้แก่ผู้คนในสังคม