Page 57 -
P. 57
โครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พลวัตของความยากจน
3.1 กล่าวนำ
ประเทศไทยนับเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไข
ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2523-2533 พบว่าปัญหาความยากจนลดลง
อย่างเห็นได้ชัด (UN, 2003) ประเทศไทยได้ผันตัวเองจากประเทศที่เคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ยากจน
ที่สุดในโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 24 ปรับเปลี่ยนเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเจริญเติบโตทาง
เศรษฐกิจสูงสุดในปัจจุบัน (Warr, 1993) ส่งผลให้รายได้ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับประเทศ
เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันนำมาซึ่งการลดลงของปัญหาความยากจนดังกล่าว
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาความยากจนอย่าง
จริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความละเอียดอ่อนและต่างกัน
ในแต่ละพื้นที่ การศึกษาความยากจนเชิงพื้นที่จะทำให้เข้าใจในสาเหตุและคุณลักษณะของ
ปัญหาอย่างลึกซึ้งโดยงานวิจัยบทนี้จะศึกษากรณีความยากจนครัวเรือนในภาคกลางและภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเป็นสองพื้นที่หลักในการผลิตข้าวและมีความเหลื่อมล้ำทางราย
ได้อย่างเห็นได้ชัด โดยภาคกลางมีความได้เปรียบเชิงภูมิประเทศมากกว่า ด้วยภูมิประเทศเป็น
ที่ราบเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูง พื้นที่เป็นดิน
ทราย และมีฤดูแล้งที่ยาวนาน ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ไม่มากนัก เกิดความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ
มีรายได้ต่อหัวต่ำ จึงต้องเผชิญปัญหาความยากจนที่รุนแรงกว่าและเป็นพื้นที่ที่พบคนจนมากที่สุด
ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีแนวโน้มลดลงอย่าง
ต่อเนื่องเรื่อยมา
การศึกษาวิจัยด้านความยากจนของไทยนั้น ส่วนมากจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับ
มหภาค และเป็นข้อมูลเชิงสถิตย์หรือข้อมูลภาคตัดตามขวาง (cross sectional data) ที่สำรวจ
ศึกษาปีต่อปี ซึ่งไม่สะท้อนให้เห็นถึงกลไกพลวัตของความยากจน ทั้งในรูปของการออกจากความ
ยากจน การเข้าสู่ความยากจน หรือยังคงอยู่ในความยากจน ดังนั้น การศึกษาข้อมูลระดับจุลภาค
โดยลงพื้นที่สำรวจครัวเรือนเดิมเพื่อมุ่งเน้นศึกษาการเปลี่ยนแปลงความยากจนในภาคกลางและ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในลักษณะพลวัตในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจะทำให้เข้าใจลักษณะ
เฉพาะของความยากจนมากขึ้น และทำให้ทราบถึงปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการสนับสนุนและ
ทำให้ครัวเรือนสามารถออกจากความยากจน และปัจจัยที่ส่งผลให้ครัวเรือนเข้าสู่ความยากจน
หรือยังคงอยู่ในความยากจนอย่างต่อเนื่อง
56 สถาบันคลังสมองของชาติ