Page 58 -
P. 58
โครงการรวบรวมและจัดทําวารสารอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
52 วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
2.บริบทสงครามเย็นและวาทกรรมการพัฒนากับแนวคิดเสรีนิยมใหม่
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่ากรณีถังแดงเกิดขึ้นได้ภายใต้บริบทสงครามเย็น บริบท
สงครามเย็นยังทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทสนับสนุนรัฐบาลไทย เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีนโยบาย
สกัดกันการคุกคามของคอมมิวนิสต์ด้วยแผนด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ ทางด้านเศรษฐกิจดำเนิน
การผ่านการสนับสนุนวาทกรรมการพัฒนาด้วยมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาความยากจนเป็นการลดฐาน
สนับสนุนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์พร้อมกัน สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าถ้าความยากจนหมดไปประเทศนั้น
จะไม่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ (กนิษฐา ชิตช่าง, 2556, 62) นอกจากนี้สงครามเย็นยังทำให้เกิดการแข่งขัน
ระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีกับสังคมนิยม โดยสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนเศรษฐกิจทุนนิยมได้รับเอา
แนวคิดเสรีนิยมใหม่อันเป็นแนวคิดที่ต้องการให้เศรษฐกิจถูกควบคุมโดยพลังตลาด ดังนั้น แนวคิดนี้จึง
สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน ลดข้อจำกัดและกฎระเบียบของรัฐ แปรรูปกิจการของรัฐให้
เป็นเอกชน ขณะเดียวกันแนวคิดนี้สนับสนุนให้เพิ่มสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนให้มั่นคงปลอดภัยขึ้น
(เสน่ห์ จามริก, 2549: 172, 175) ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนประเทศไทยให้มีการพัฒนาเพื่อรับมือ
กับการขยายอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ด้วยแนวทางเสรีนิยมใหม่นี้ ถึงแม้รัฐบาลเริ่มใช้แนวทางการ
พัฒนามากขึ้นในจังหวัดพัทลุง แต่รัฐบาลไทยยังคงใช้กำลังปราบปรามนำการพัฒนาจนกระทั่งรัฐบาลหัน
มาใช้นโยบายการเมืองนำการทหารเพื่อแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ ดังนั้นการพัฒนาตามแนวทางที่สหรัฐ
อเมริกาชี้นำได้ก่อให้เกิดการเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์และโฉนดที่ดินในเวลาต่อมา
รัฐเริ่มเร่งพัฒนาชนบทในจังหวัดพัทลุงตามแนวคิด “วาทกรรมการพัฒนา” ตั้งแต่ใน พ.ศ.
2515 ด้วยการประกาศเขตการเร่งรัดพัฒนาชนบทในจังหวัดพัทลุงเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2516 (สำนัก
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2515) แต่รัฐยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ ถึงแม้รัฐ
พยายามเพิ่มการพัฒนาเพื่อดึงมวลชนแต่รัฐยังไม่ได้มีนโยบายอื่นๆแทนการใช้กำลังทหารปราบปราม
ดังนั้น กล่าวได้ว่ารัฐบาลยังคงเน้นการปราบปรามนำการพัฒนาจนกระทั่งใน พ.ศ. 2523 เมื่อประเทศไทย
เข้าสู่ ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เริ่มมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนเริ่มมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น
เนื่องจากรัฐบาลไทยได้รับแนวคิดจากสหประชาชาติเรื่อง “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” จากนั้นฝ่าย
ทหารได้หารือกับอดีตแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่มอบตัวตามโครงการของแผนการุณย
เทพซึ่งเป็นแผนทางจิตวิทยาที่เกลี้ยกล่อมให้สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ออกมามอบตัวกับรัฐบาล
(พลเอกสายหยุด เกิดผล, อ้างแล้ว: 278 - 286) ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ได้เริ่มนโยบายการเมืองนำการทหาร ตามประกาศที่ 66/23 เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าควรใช้หลัก
ประชาธิปไตยในการแก้ปัญหามากกว่าการใช้กำลังทหาร (กนิษฐา ชิตช่าง, อ้างแล้ว: 84 - 85) รวมถึงการ
ใช้แผนใต้ร่มเย็นในพื้นที่ภาคใต้เพื่อจัดการกับคอมมิวนิสต์ โดยเข้าถึงชาวบ้านด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่ การ
ลงโทษหรือย้ายข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ การตั้งหน่วยสันตินิมิต การตั้งไทยอาสาป้องกันชาติ การตั้ง
หมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง เป็นต้น จากนั้นทหารจึงค่อยดำเนินการปรามปราบโจมตีฐานที่มั่นของ
พรรคคอมมิวนิสต์โดยตรงในภายหลัง (หาญ ลีนานนท์, 2527) นโยบายการเมืองนำการทหารทำให้
รัฐบาลเน้นการใช้พัฒนาด้านเศรษฐกิจมากกว่าการใช้กำลังปราบปราม ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา
การพัฒนาทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจนำการใช้กำลัง กลายเป็นแผนใหม่ในการแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์