Page 5 -
P. 5
โครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คำนำ
“ควายไทย มรดกไทย” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความเป็นจริงที่มีต่อวิถีชีวิตคนไทย และระบบ
เกษตรกรรมไทย ถึงแม้ปัจจุบันจำนวนควายจะลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับจิตสำนึกและความ
ตระหนักถึงบุญคุณควาย อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหยุดยั้งได้นี้ ก็ยัง
มีความหวังที่ควายไทยจะคงอยู่คู่กับคนไทย เพื่อรักษาพยัญชนะไทย ตัวที่ 4 คือ ค...ควาย เข้านา เอาไว้
ให้ได้ชั่วลูกหลาน กรมปศุสัตว์เองในฐานะรับผิดชอบโดยตรง ดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ
เกี่ยวกับควายหลายโครงการ เช่น โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ โครงการ
พลิกฟื้นธนาคารควายไถนา และโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช
กุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ตั้งขึ้น ที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อเป็นโรงเรียนสอนคนให้รู้จักการใช้แรงงานควาย
ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร นับว่าเป็นแห่งแรกของโลก ซึ่งโครงการพระราชดำริเหล่านี้ นับ
เป็นพระมหากรุณาอย่างสูงยิ่งต่อควายไทยและคนไทย ซึ่งมีพระราชประสงค์ที่จะชี้นำให้คนไทยและ
สังคมไทย ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของควายไทย และเป็นพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกล ที่ต้องการ
อนุรักษ์พัฒนาควายไทย และภูมิปัญญาไทยเกี่ยวกับควายเอาไว้ให้คงอยู่คู่คนไทย
เอกสาร การสืบค้นภูมิปัญญาไทยในการคัดเลือกควายของภูมิปัญญาท้องถิ่นเล่มนี้ เป็นความ
ตั้งใจที่จะตอบแทนบุญคุณควายไทย และปราชญ์ด้านควายไทย ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลที่ผ่านมา ยิ่ง
ทำให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับควาย ในอดีตชัดเจนมากขึ้น แต่เดิมมาควายนั้นมีความสำคัญ
ต่อเกษตรกรไทยไม่ใช่ในฐานะผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย แต่ควายได้รับเกียรติในฐานะเพื่อนร่วมชีวิต ควาย คน
และข้าว นับว่ามีความใกล้ชิดกันมาก องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับควายด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นและ
สืบทอดมาถึงปัจจุบัน เกิดจากประสบการณ์ตรงที่ได้จากการติดตามสังเกต ตรวจสอบคัดสรรโดยใช้เวลา
เป็นเครื่องพิสูจน์มาตามลำดับ ในการดำเนินการครั้งนี้ได้แยกภูมิปัญญาการคัดเลือกควายออกเป็นหลาย
ด้าน ตามวัตถุประสงค์ของการคัดเลือก ซึ่งพบว่า องค์ความรู้บางด้านเป็นความรู้ในวงกว้าง กล่าวคือ
เกษตรกรที่ค่อนข้างอายุมากในชุมชนที่ผ่านยุคควายรุ่งเรืองมา ส่วนใหญ่เคยได้รับรู้ แต่อาจหลงลืมไป
บ้างและเมื่อมีผู้กล่าวถึงก็จะจดจำได้ เช่น องค์ความรู้ ในการคัดเลือกควายทำพันธุ์ การคัดเลือกควายใช้
งาน เป็นต้น แต่บางองค์ความรู้ ค่อนข้างที่จะเป็นความลับ หรือเป็นความรู้เฉพาะกลุ่ม เช่น การดู
ลักษณะขวัญ การดูลักษณะกาลกิณี หรือการคัดเลือกลักษณะควายงาม เป็นต้น
หวังว่า เอกสารฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ และมีส่วนช่วยให้คนไทยได้ตระหนักและเห็น
คุณค่าของควายไทยและภูมิปัญญาไทยเกี่ยวกับควายมากขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดของเวลาและภูมิปัญญา
ของผู้เขียน ย่อมมีข้อผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว และพร้อมที่จะปรับปรุง
แก้ไขในโอกาสต่อไป และหากมีประโยชน์อยู่บ้าง ก็ขอยกคุณความดีนี้แก่ควายไทยและปราชญ์เรื่อง
ควายทุกท่าน พร้อมให้เป็นความภูมิใจร่วมกันของคนไทยผู้รักษ์ควาย และรักความเป็นไทยทุกคน
19 มิถุนายน 2553