Page 18 -
P. 18
โครงการรวบรวมและจัดทําวารสารอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
12 วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
แตกต่างกันอย่างไร (จุดหมาย โครงสร้างองค์กร ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวหรือการสร้างพลัง/อิทธิพล ฯลฯ
ดูตารางเปรียบเทียบ) กล่าวคือ ขบวนการทางสังคมหมายถึง การรวมตัวกันของประชาชนเพื่อกระทำการ
ร่วมหมู่โดยมีจุดหมายที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคม ระบบคุณค่า ความเชื่อ หรือมุ่ง
เปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง ในขณะที่การเมืองแบบกลุ่มผลักดันมีจุดหมายอยู่ที่การต่อรองเรียกร้องเพื่อให้ได้
มาซึ่งผลประโยชน์เฉพาะของกลุ่มหรือการผลักดันในระดับนโยบายสาธารณะ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะและ
แคบระดับกลุ่ม แต่ขบวนการทางสังคมมีระดับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือวงขอบระดับสังคม
ส่วนในด้านยุทธวิธีการเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ขบวนการทางสังคมเป็นการสร้างพลัง
โดยไม่ผ่านระบบการเมืองปกติ หรือไม่ได้อาศัยช่องทางการล็อบบี้ มีพื้นที่อยู่ “ภายนอก” ระบบการเมือง
ปกติ และลักษณะด้านองค์กรขบวนการทางสังคมมักมีโครงสร้างแบบเครือข่ายหลวมๆ มากกว่าเป็น
องค์กรแบบทางการที่มีลำดับชั้น
อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างลักษณะของกลุ่มแบบกลุ่มผลประโยชน์กับ
(กลุ่มที่เรียกว่า) ขบวนการทางสังคม ดังที่พิจารณามานั้นอาจจะทำให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้นหากเราพิจารณา
ในมิติของกรอบในการวิเคราะห์การเมืองแบบกลุ่ม การมองความแตกต่างในฐานะกรอบการวิเคราะห์จะ
ช่วยให้เกิดการตั้งคำถามว่า กรอบการวิเคราะห์กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มผลักดันมีปัญหาอย่างไร มี
ความไม่เพียงพออย่างไร เหตุใดจึงเกิดกรอบการวิเคราะห์แบบขบวนการทางสังคมขึ้นมา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า
การศึกษาที่ผ่านๆ มา เรามักให้ความสนใจที่มุ่งไปยังการพิจารณาความแตกต่างในมิติของลักษณะกลุ่ม
เช่นการตั้งคำถามว่า ขบวนการทางสังคมเก่าแตกต่างไปจากขบวนการทางสังคมใหม่อย่างไร อะไรใหม่ใน
ขบวนการทางสังคมใหม่ ซึ่งทำให้การศึกษาวิจัยก็มุ่งไปในทิศทางเช่นนี้ กล่าวคือ ทำให้การศึกษาเป็นเพียง
การพรรณนาหรือบรรยายลักษณะของการรวมกลุ่มก้อนเท่านั้น หรืออย่างมากก็เปรียบเทียบให้เห็น
หน้าตาที่แตกต่างกันไป
หากเรามองในฐานะกรอบการวิเคราะห์จะนำมาสู่การสร้างองค์ความรู้อีกแบบหนึ่งซึ่งผู้เขียน
เห็นว่าน่าจะนำไปสู่ประเด็นการวิจัยใหม่ๆ และหาคำตอบในลักษณะของการสร้างทฤษฎีได้มากยิ่งขี้น เช่น
การตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงเกิดกลุ่มทางสังคมการเมือง มีเงื่อนไขปัจจัยอย่างไร ฯลฯ การตอบคำถามดัง
กล่าวนี้กรอบการวิเคราะห์การเมืองแบบกลุ่มผลประโยชน์ให้คำตอบที่จำกัดมาก เพราะอธิบายการเกิด
กลุ่มแบบอัตโนมัติ กล่าวคือ มองว่าหากผู้คนมีผลประโยชน์ มีความต้องการเดียวกันก็จะมารวมตัว
กันเองเพื่อสร้างอิทธิพลต่อรองให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ มองในแง่นี้กรอบการวิเคราะห์ขบวนการทาง
สังคมพยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็น “ผู้รับประโยชน์โดยไม่ลงแรง” (free rider) ทฤษฎีการระดม
ทรัพยากรจึงเป็นการอุดช่องโหว่ในการอธิบายดังกล่าวนี้ งานของ Mc Carthy&Zald(1977) เรื่อง
“Resource Mobilization and Social Movements: A Partial Theory” ได้สะท้อนให้เห็นชัดว่า
ทฤษฎีดังกล่าวนี้เป็นทฤษฎีบางส่วน (ของทั้งหมด) ทฤษฎีขบวนการทางสังคมจึงพยายามที่จะอุดช่องการ
อธิบายในลักษณะของการสร้างทฤษฎี (ไม่ใช่มุ่งแค่อธิบายลักษณะความแตกต่างของการรวมกลุ่ม
ประเภทต่างๆ ) จากประสบการณ์ของผู้เขียนจึงอยากตั้งข้อสังเกตว่า เราละเลยที่จะมองมิติของทฤษฎีใน
แง่ที่เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อช่วยกันตอบคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองผ่าน
การเมืองเรื่องกลุ่ม